ชมรมนักวิทยุสมัครเล่นแก่นทอง จังหวัดขอนแก่น ความถี่ 144.750 MHz

สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ => สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ => ข้อความที่เริ่มโดย: E20ZSY- สระบุรี ที่ 21 เมษายน 2012, 22:17:04

หัวข้อ: ชวนเที่ยว : เมืองโบราณมรดกแห่งสยามประเทศ
เริ่มหัวข้อโดย: E20ZSY- สระบุรี ที่ 21 เมษายน 2012, 22:17:04
ชวนเที่ยว : เมืองโบราณมรดกแห่งสยามประเทศ
(http://image.ohozaa.com/i/325/fYEkrT.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/w1KeoDsfNaXUXySs)
 
สังคมไทยได้สั่งสมมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน งานวิจิตรศิลป์แขนงต่างๆ ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านวันเวลาแห่งความรุ่งโรจน์และร่วงโรยตามกาลยุคสมัย สภาพสังคมสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไปทำให้บางครั้งมรดกงานศิลป์ที่มีอายุเก่าแก่ ถูกมองว่าเป็นของโบร่ำโบราณ จนถูกทอดทิ้งหรือทำลายลง ด้วยความไม่รู้ ไม่ตระหนักในคุณค่า ดังนั้นเราจึงได้เห็นโบสถ์ วิหาร เรือนไม้ หลายต่อหลายแห่งถูกทำลายทิ้งแล้วสร้างขึ้นใหม่อย่างไร้รสนิยม

             ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่มาของเมืองโบราณ สถานที่ที่ถูกสร้างขึ้นจากความมุ่งมั่นของ คุณเล็ก และคุณประไพ วิริยะพันธุ์ ด้วยความตั้งใจในการสืบสานมรดกที่บรรพบุรุษได้มอบไว้ให้แก่ชนรุ่นหลัง ดังคำกล่าวตอนหนึ่งของท่านที่ว่า “เมืองโบราณ คือเมืองในอดีต...เหตุวันนี้ย่อมสืบเนื่องมาจากเมื่อวานนี้...เรื่องของอดีต คนปัจจุบันจำเป็นต้องรู้ หากเราไม่รู้จักอดีต ก็เหมือนเดินเรือในท้องทะเลโดยปราศจากเข็มทิศและหางเสือ”
             ภายในพื้นที่รูปคล้ายแผนที่ประเทศไทยของเมืองโบราณ เป็นที่ตั้งของปราสาทราชวัง วัดวาอาราม และงานประติมากรรมต่างๆ ท่ามกลางสภาพภูมิทัศน์อันร่มรื่นสิ่งก่อสร้างบางแห่งเป็นการก่อสร้างขึ้นใหม่ บางแห่งทางเมืองโบราณได้ทำการผาติกรรมมาจากสถานที่จริง ก่อนนำมาบูรณะให้งดงามดังเช่นในอดีต

            สถานที่แรกที่แวะมาเยือน คือตลาดโบราณ ที่จำลองบรรยากาศของชุมชนในอดีตที่มีตลาดเป็นจุดพบปะของผู้คนในสังคม ตลาดแห่งนี้ผู้สร้างได้แรงบันดาลใจมาจากถนนสายเก่าในจังหวัดตาก และกำแพงเพชร บนถนนอิฐสายเล็กๆ ของตลาดโบราณร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่ สองข้างทางเรียงรายไปด้วยเรือนไม้เก่าแก่ที่แต่ละหลังเป็นตัวแทนของ โรงมหรสพ และร้านรวงต่างๆ
(http://image.ohozaa.com/i/4aa/qxIwN3.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/w1KeqLkluTY3S90s)

            และเมื่อผมปั่นจักรยานเข้ามายังพื้นที่ใจกลางเมืองโบราณ จะได้พบกับอาคารที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ของที่นี่ คือพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท พระที่นั่งสำคัญในสมัยอยุธยาที่ถูกเผาเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ปัจจุบันพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทที่อยุธยาเหลือเพียงซากฐานขององค์พระที่นั่ง ทางเมืองโบราณได้อาศัยการค้นคว้าจากหลักฐานต่างๆ ทั้งจดหมายเหตุ พระราชพงศาวดาร ภาพเขียน ฯลฯ เพื่อสืบค้นลักษณะทางสถาปัตยกรรม และศิลปกรรม ก่อนจะก่อสร้างพระที่นั่งสรรเพชญปราสาทขึ้นมาใหม่อย่างงดงาม องค์พระที่นั่งฐานโค้งดูอ่อนช้อย ยอดปราสาทสูงชะลูด หลังคาประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และบราลี ที่ล้วนหุ้มด้วยดีบุกสีเทาเงินผนังภายในประดับประดาด้วยลวดลายปูนปั้นปิดทองเหลืองอร่าม
(http://image.ohozaa.com/i/b7a/0ue7D.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/w1KenzwcWq0mtLSU)

            สถานที่สำคัญอีกแห่งที่อยู่ไม่ไกลกัน คือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งแม้ว่าพระที่นั่งองค์จริงจะยังคงอยู่ภายในพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ แต่สิ่งที่เมืองโบราณได้กระทำคือพยายามสืบค้นหลักฐานต่างๆ เพื่อสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทั้งโครงสร้าง ลวดลายประดับ และสีสัน ที่พยายามอ้างอิงงานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นหลัก
            การที่พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท และพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตั้งเด่นสง่าเคียงคู่กันกลางเมืองโบราณ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงสุดยอดของงานสถาปัตยกรรมไทยในสองยุค ยังแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของงานสถาปัตยกรรมที่สืบทอดจากสมัยอยุธยา จนเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์
            ภายในเมืองโบราณ มีการแบ่งพื้นที่จัดแสดงตามภูมิภาค เช่นในเขตภาคเหนือจะได้พบกับ วิหารวัดภูมินทร์ วิหารจตุรมุขแห่งเมืองน่าน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงถึงสภาพสังคมและวิถีชีวิตของดินแดนล้านนาในกาลก่อน ถัดไปอีกไม่ไกลคือ วัดจองคำ อาคารที่ทางเมืองโบราณได้ทำการผาติกรรมมาจาก อำเภองาว จังหวัดลำปาง อาคารของวัดจองคำแห่งนี้โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทยใหญ่ที่สร้างจากไม้สักทั้งหลัง ส่วนของวิหาร ศาลา กุฏิ มีการเชื่อมต่อเป็นอาคารเดียวกันอันเป็นรูปแบบที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน
(http://image.ohozaa.com/i/325/fYEkrT.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/w1KeoDsfNaXUXySs)

            เที่ยงวัน ตลาดน้ำแห่งเมืองโบราณดูจะคึกคักเป็นพิเศษ ตลาดน้ำแห่งนี้เป็นการจำลองวิถีชีวิตของชาวสยามในสมัยก่อนที่ใช้แม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางสัญจรหลัก จนเกิดเป็นชุมชนริมฝั่งน้ำที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ดังจะเห็นได้จากการมีทั้งศาลเจ้าจีน โบสถ์คริสต์ มัสยิด และวัดไทยอยู่เคียงข้างกันภายในชุมชน

            จากตลาดน้ำ ผมปั่นจักรยานมุ่งหน้าสู่พื้นที่ทางภาคอีสาน และสถานที่ที่เป็นหัวใจในแถบนี้คงหนีไม่พ้น เขาพระวิหาร ดินแดนที่ปัจจุบันยังเป็นข้อพิพาทกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งเมืองโบราณได้จำลองลักษณะของเขาพระวิหารที่สร้างไล่ระดับจากเชิงเขาขึ้นไปสุดยังปลายหน้าผาตัด ระหว่างทางประกอบด้วยองค์ปราสาทเรียงรายอยู่ถึง 4 ระดับ และแม้ทางขึ้นปราสาทเขาพระวิหารจะย่อส่วนจากของจริง แต่ผมก็รับรู้ได้ถึงความมุมานะและแรงศรัทธาของคนโบราณ ในการสร้างเหล่าเทวาลัยเรียงรายตามทางลาดชันสู่ยอดเขาเบื้องบนอันเป็นตัวแทนของสวรรค์ชั้นฟ้า ที่เหล่าทวยเทพของศาสนาฮินดูสิงสถิตอยู่ การเดินเท้าขึ้นชมปราสาทพระวิหารเรียกเหงื่อได้ไม่น้อย แต่ก็คุ้มกับการได้ชมสถาปัตยกรรมขอมที่ทางเมืองโบราณได้จำลองขึ้นมาอย่างสวยงาม และบนยอดเขาพระวิหาร ยังเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สามารถมองเห็นยอดปราสาท ยอดวิหารต่างๆ ภายในเมืองโบราณได้เป็นอย่างดี
(http://image.ohozaa.com/i/cb7/I3CLF.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/w1Kf7iMbwmdvd2Y8)

(http://image.ohozaa.com/i/4eb/szWrJN.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/w1KepHoiDVaAMTVm)

             นอกจากการจำลองรูปแบบสถานที่สำคัญในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยแล้ว ยังมีสถานที่ที่ทำการก่อสร้างขึ้นมาจากหลักฐานในอดีตที่มีอยู่เพียงน้อยนิด แต่เมื่อทำการปะติดปะต่อเรื่องราว และผูกโยงลักษณะทางศิลปะในยุคสมัยเดียวกัน จึงเกิดเป็น หอพระแก้ว หอไม้ทรงแปดเหลี่ยมที่ได้ต้นแบบมาจากรูปสลักตู้พระธรรมในสมัยอยุธยา รวมถึงหลักฐานที่มีการบันทึกไว้โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาในสมัยอยุธยา

             และเมื่อพูดถึงความเชื่อและแรงศรัทธาแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นเมืองที่คนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา แต่ก็มีการผสมผสานความเชื่อของศาสนาฮินดูมาอย่างยาวนาน เทพเจ้าหลายองค์ของฮินดูยังคงได้รับการเคารพกราบไหว้จากคนไทย รวมถึงปรากฏทั้งในงานวรรณกรรม จิตรกรรม และพิธีกรรมต่างๆ ดังนั้นทางเมืองโบราณจึงได้สร้างอุทยานเทวโลกเพื่อประดิษฐานรูปหล่อสัมฤทธิ์ของเทพเจ้าในศาสนาฮินดูภายใต้ภูมิทัศน์อันร่มรื่นของไม้ใหญ่และสายน้ำ รูปหล่อสัมฤทธิ์ภายในเทวโลกประกอบด้วย พระอิศวร ผู้ทรงเป็นใหญ่แห่งเทพทั้งปวง พระพรหม เทพเจ้าผู้สร้างโลก พระนารายณ์ที่กำลังบรรทมสินธุ์บนหลังพญาอนันตนาคราช และรูปหล่อที่ผมเองอยากยกให้เป็นที่สุดของการจัดวางองค์ประกอบคงต้องยกให้แก่รูปหล่อพระจันทร์ทรงม้าทั้ง 10 ตัว ที่กำลังโจนทะยานอยู่บนสายน้ำตก เป็นภาพตรึงตาที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง

             แวะเวียนไปตามสถานที่ต่างๆ ภายในเมืองโบราณจนเข้าเวลาบ่ายแก่ แสงอาทิตย์เริ่มอ่อนแรงลง แม้ผมจะใช้จักรยานเป็นตัวช่วยในการเดินทางไปตามจุดหมายต่างๆ แต่เพียงหนึ่งวันดูจะไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนสถานที่ต่างๆ ภายในเมืองโบราณ นั่นคงเป็นสาเหตุที่ผมแวะเวียนมาเมืองโบราณหลายต่อหลายครั้งโดยไม่รู้เบื่อ
           
การได้มาเยือนที่นี่สำหรับผม มิใช่การได้มาเดินเล่นในที่สวยๆเท่านั้น แต่สิ่งที่ซึมซับกลับไปคือความเข้าใจในรากเหง้าและที่มาของสังคมไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถยืดหยัดอย่างมั่นคงในสังคมปัจจุบัน ที่อยู่ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกราก ดังคำกล่าวที่ว่า “เมืองโบราณเป็นภาพของสังคมสยามในอดีต เพื่อเป็นกระจกเงาสำหรับอนาคตของมนุษยชาติ”

การเดินทาง : เมืองโบราณตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท บริเวณกม.ที่ 33 จากสามแยกสมุทรปราการ มุ่งหน้าบางปู ก่อนถึงบางปูเล็กน้อยจะเห็นทางเข้าเมืองโบราณอยู่ซ้ายมือ มีรถสองแถวผ่าน
หัวข้อ: Re: ชวนเที่ยว : เมืองโบราณมรดกแห่งสยามประเทศ
เริ่มหัวข้อโดย: kaentong ที่ 22 เมษายน 2012, 00:46:33
ขอขอบคุณครับ ภาพสวยครับ  อยากไปจริงๆ