ชมรมนักวิทยุสมัครเล่นแก่นทอง จังหวัดขอนแก่น ความถี่ 144.750 MHz

สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ => สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ => ข้อความที่เริ่มโดย: E20ZSY- สระบุรี ที่ 04 พฤษภาคม 2012, 08:04:40

หัวข้อ: นัดพบ “บึงฉวาก”
เริ่มหัวข้อโดย: E20ZSY- สระบุรี ที่ 04 พฤษภาคม 2012, 08:04:40
นัดพบ “บึงฉวาก” ยั่วให้อยาก…กลับไปอีกหลายครั้ง

(http://image.ohozaa.com/i/4e2/1ku5QK.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/w3l9ZcUKawE0lFoQ)

“เก้าโมงเช้าวันอาทิตย์ พบกัน ณ จุดนัดพบ ‘บึงฉวาก’ ท่องเที่ยว ‘บึงฉวาก’ กัน”

“หา…” เราอุทานเบาๆ หลังรับแจ้งแบบไม่ทันตั้งตัว แต่เมื่อตั้งตัวได้เราก็ตอบรับในทันที โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าระหว่างรายทางไปจนถึงจุดนัดพบมีอะไรรอเราอยู่

ภาพความทรงจำในอดีตของ “เมืองสุพรรณฯ ” ย้อนเข้ามากระทบไม่ขาดสาย

เราอดยิ้มเล็กๆ ไม่ได้ เมื่อคิดไปถึงคำพูดขณะทอดสายตาฝันล่องลอยไปไกลของบางใครบางคน

“มาสุพรรณฯ มาแล้วก็อยากมาอีก แล้วเราจะนัดกันมาอีกนะ…”

(http://image.ohozaa.com/i/ccf/psAZC6.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/w3l9XN012ghkhxIY)

“สุพรรณบุรี” รุ่มรวยด้วยทรัพยากรการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีเก่าแก่ อันเป็นหนึ่งในที่มาของชื่อ “สุวรรณภูมิ” หรือ “สุพรรณภูมิ” รวมไปถึงต้นเค้าของวรรณคดี “เสภาขุนช้างขุนแผน”

นี่ยังไม่รวมถึงอีกหลายพื้นที่ที่ใครต่อใครนึกถึง โดยเฉพาะตลาดโบราณริมแม่น้ำท่าจีน อย่าง “ตลาดสามชุก” หรือ “ตลาดเก้าห้อง” ตลอดจนของกินลือชื่อ ทั้ง “ปลาแม่น้ำ” และ “สาลี่สุพรรณ”

และแน่นอนว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตกสำรวจชื่อ “บึงฉวาก” ไปไม่ได้เลย

“บึงฉวาก” เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นเขตคุ้มครองและเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ “แรมซาร์ไซต์” ที่มีความสำคัญระดับชาติ ตามอนุสัญญา “แรมซาร์” ที่ได้รับการดูแลรักษาไว้อย่างดีเยี่ยม

และ “บึงฉวาก” ก็ยังเป็นศูนย์รวมของ “พันธุ์สัตว์น้ำ” นานาชนิด

แต่ที่มากกว่า “พันธุ์สัตว์น้ำ” ก็คือ “พันธุ์สัตว์ป่า” และ “พันธุ์พืช” ที่มีการรวบรวมไว้ในพื้นที่เดียวกัน

6 โมงเช้าวันอาทิตย์ วันหยุดสุดสัปดาห์ เราออกเดินทางมุ่งสู่ ถ.งามวงศ์วาน ไปตามป้าย “แคลาย” จนเลี้ยวเข้าสู่ “ทางหลวงหมายเลข 340” บางบัวทอง-สุพรรณบุรี ไปตามป้ายบอกทางที่มีตลอดเส้นทาง

(http://image.ohozaa.com/i/634/JULagh.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/w3l9ZUS6JHTdk9Co)

“นายกฯ บรรหาร จะมาตรวจงานที่บึงฉวากเป็นประจำทุกวันอาทิตย์”

เรานึกถึงคำบอกเล่าที่มีมาถึงก่อนการเดินทาง และก็อดนึกถึงคำร่ำลือในหมู่นักท่องเที่ยวที่ว่า “ขนาดคุณหญิงแจ่มใส มาเที่ยวก็ยังต้องซื้อบัตรเข้าชมเลย”

ใครอื่นอาจจะคิดไปได้หลายข้อ แต่ที่เราคิดกลับเห็นถึงการ “วางกฎ-จัดระเบียบ” ที่ทุกคนยินดีร่วมทำ

นี่อาจเป็นเหตุผลข้อหนึ่งที่ทำให้เราไม่แปลกใจว่า ทำไม “บึงฉวาก” จึงอยู่ในลำดับต้นๆ ของสถานท่องเที่ยวซึ่งสวยงาม และมีการ “บริหาร-จัดการ” ที่ดีอย่างยิ่ง

นี่เป็นเสน่ห์ของ “เมืองสุพรรณฯ ” ที่แตกต่างจากเมืองอื่นๆ

ก็เหมือนกับที่คนขับรถส่วนใหญ่สามารถรับรู้ได้แทบจะทันทีว่ากำลังเข้าเขตเมืองสุพรรณฯ เมื่อล้อรถที่หมุนด้วยความเร็วสัมผัสกับถนนอย่างนุ่มนวล ราบเรียบ และสะอาดตา แทบจะตลอดเส้นทาง

และก็เหมือนกับป้าย “บรรหาร-แจ่มใส” ที่มีให้เห็นทั่วไป ซึ่งในช่วงที่รถวิ่งผ่าน “ร.ร.บรรหารแจ่มใสวิทยา” เราก็ยังได้เห็นข้อความ “การศึกษาสร้างรากฐาน บรรหารแจ่มใสสร้างอนาคต” ติดไว้ที่อาคาร

(http://image.ohozaa.com/i/2f3/CDrFaZ.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/w3la0YO9Awp74sKY)

เราขับรถตามป้าย “บึงฉวาก” ที่มีตลอดเส้นทาง จนมาถึงป้ายใหญ่กลางถนน บอกทางเลี้ยวเข้า

และนี่ก็คือ “บึงฉวาก” หรือชื่อเต็มๆ ว่า “บึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ” อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี กับอาณาบริเวณกว้างขวางสุดลูกหูลูกตา กินพื้นที่มากกว่า 2,000 ไร่ ที่เป็น “จุดนัดพบ” ของเรา

เราถึง “บึงฉวาก” ก่อนกำหนดนัดหมาย 9 โมง และ “บึงฉวาก” ก็เปิดเวลา 9 โมง

ระหว่างรอเวลา เราถือโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่หน้าช่องขายบัตรเข้าชม จนได้ทราบว่า นายกฯ บรรหาร จะมาในช่วงเวลาประมาณ 10 โมง แต่พร้อมกันนั้น เราก็ได้คำสำทับหนักแน่นตามหลังมาด้วย

“ถ้าจะถ่ายรูปท่าน ต้องขออนุญาตท่านก่อนนะคะ”

เราอดยิ้มไม่ได้ ในเจตนาดีของเจ้าหน้าที่ แต่ก็เข้าใจถึงการทำหน้าที่ที่ต้องทำ

(http://image.ohozaa.com/i/d41/kHi6Uf.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/w3la3sEVzv0zFyq4)

แล้วก็ถึงเวลานัดหมาย “9 โมงเช้า” เราดูเวลาแล้วตัดสินใจซื้อบัตรเข้าชม “สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ” ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท และได้รับคำอธิบายว่า ด้านในมีบางจุดที่ต้องซื้อบัตรเพิ่มเพื่อเข้าชม

เราอดชื่นชมต่อแนวคิดนี้ไม่ได้ที่ให้โอกาสนักท่องเที่ยวได้เลือกชมตามความพอใจ เพราะบางสถานที่ใช้วิธีขาย “บัตรชุด” แบบเหมารวมในราคาที่ค่อนข้างสูง ทั้งที่นักท่องเที่ยวอาจไม่ต้องการเข้าชมทุกจุด

เราเริ่มต้นที่ “อาคารสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำหลังที่ 1” จุดนี้มีพันธุ์สัตว์น้ำจืด-น้ำเค็มกว่า 50 ชนิด

“ปลาโนรี” สีเหลืองคาดดำเตะตาเราเป็นพิเศษ เพราะมีให้เห็นค่อนข้างมากกว่าชนิดอื่นๆ

แต่ที่ทำเราหน้าแตกละเอียดก็คือ “ปลาไหลมอเรย์ปานดำ” ที่ทำปากพะงาบๆ เหมือนติดล็อกอยู่กับท่อน้ำภายในตู้ จนเราตกใจเรียกหาเจ้าหน้าที่ และได้รับคำตอบยิ้มๆ ว่า “เขาชอบทำแบบนั้นประจำครับ”

(http://image.ohozaa.com/i/b1e/He3zO.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/w3la0gQN1hZ09GmI)

เพล้ง!!! วันนี้เราก็เลยได้เป็นหนึ่งในนักท่องเที่ยวหลายร้อยคนที่เคยถามคำถามแบบเดียวกันนี้!!!

เราแอบค้อนเจ้า “ปลาไหลมอเรย์ปานดำ” ที่ยังทำปากพะงาบๆ แต่ก็อดยิ้มอย่างเอ็นดูไม่ได้

จาก “อาคารฯ หลังที่ 1” เราเดินไปตามทางซึ่งเชื่อมต่อกับ “อาคารฯ หลังที่ 2” ที่มีทั้ง “ตู้ปลาทรงกระบอก” ขนาดใหญ่ดูปลาได้รอบตู้ และ “อุโมงค์ปลาน้ำจืด” แห่งแรกของประเทศไทย ยาวเกือบ 10 ม.

เสียดายที่คล้ายกับว่าปลาตัวใหญ่ๆ จะมีน้อยลง รวมไปถึง “กระเบนราหู” ตัวใหญ่ที่หายไป

จาก “อุโมงค์ปลา” มาถึง “บ่อจระเข้” ที่นี่ไม่ต้องซื้อบัตรเพิ่ม แต่บังคับให้เดินชมเป็นแบบ “วันเวย์”

หลายคนยิ้ม เมื่อเห็นป้าย “จระเข้ทุกตัวโปรดทราบ ให้ผสมพันธุ์และวางไข่ในสถานที่ที่จัดไว้ให้”

(http://image.ohozaa.com/i/4c4/Rv7L.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/w3la1GLw9AQoaTsI)

ถัดจากป้ายนี้ก็เป็นป้าย “ห้องวางไข่” ที่ติดไว้เหนือช่อง เราแอบได้ยินใครบางคนอมยิ้ม พร้อมกับชี้มือไปที่ป้าย “ทางออก” แล้วพูดว่า “จระเข้ที่นี่อ่านภาษาไทยได้แน่ๆ แต่สงสัยจะยังไม่เห็นป้ายนี้”

ใกล้ๆ กันกับ “บ่อจระเข้” คือ “อาคารสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำหลังที่ 3” จุดนี้ ถ้าจะเข้าชมต้องจ่ายค่าบัตรผ่านประตูเพิ่ม ผู้ใหญ่ 150 บาท เด็ก 50 บาท เพื่อพบกับ “อุโมงค์ปลาฉลามใหญ่ที่สุดในโลก”

ที่นี่มีตู้ปลาทรงกระบอกตู้ยักษ์ใต้สมุทร ตู้แนวปะการัง โลกสีครามจากโอกินาวา รวมถึงตู้สีสันสิมิลัน ที่เรียกได้ว่า แทบจะขนเอาพันธุ์ปลาครบทุกทวีป มาจัดแสดงอย่างสมชื่อ “บึงฉวาก สวรรค์แห่งโลกใต้ทะเล”

“บึงฉวาก” ไม่ได้มีแค่นี้ ที่นี่ยังมี “กรงนกใหญ่” กับนกเกือบ 50 ชนิด ในพื้นที่เกือบ 5 ไร่ ให้ตื่นตาตื่นใจ

(http://image.ohozaa.com/i/e08/uJw2eU.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/w3la4SzEHRuZCwRa)

เช่นเดียวกับ “ไฮไลท์” ของเด็กๆ ที่ตื่นตาตื่นใจ กับ “สวนสัตว์” โดยเฉพาะ “เสือพบสิงห์” ที่มีให้ชมที่นี่

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า สิงโตกับเสือโคร่งสามารถอยู่ด้วยกัน และผสมพันธุ์กันได้ โดยถ้าตัวพ่อเป็นสิงโต ลูกก็ออกมาเป็น Liger (Lion+Tiger) แต่ถ้าตัวพ่อเป็นเสือโคร่ง ลูกก็จะออกมาเป็น Tion (Tiger+Lion)

ที่นี่ ยังมี “สัตว์ป่าหายาก” อาทิ วอลลาบี้ หรือจิงโจ้แคระ ยีราฟ นกกระจอกเทศ อูฐ ม้าลาย และ ฯลฯ

และก็ยังมี “อุทยานผักพื้นบ้านเพื่อการยังชีพเฉลิมพระเกียรติ บึงฉวาก”

(http://image.ohozaa.com/i/3f0/TDdUi5.jpg) (http://image.ohozaa.com/view2/w3la2KHz0njHXAly)

ที่นี่เราได้พบกับชื่อผักแปลกๆ ที่ไม่เคยได้ยิน เช่น “ผักลืมชู้” หรือ “ผักลืมผัว” และ “พ่อค้าตีเมีย”

แถมไม้ดัดที่ตัดแต่งรูป “มังกร” ตัวผู้-ตัวเมียด้านหน้า ก็ยังเป็นจุดดึงดูดผู้มาเยือน โดยเฉพาะเมื่อได้อ่านป้ายที่ว่า แตะมังกรตัวผู้พ่นน้ำ แตะมังกรตัวเมียร้องเสียงดัง ที่ทำเอาผู้เล่นหัวเราะชอบใจเมื่อเห็นผลลัพธ์

เราอยู่ ณ จุดนี้อย่างอิ่มเอม และก่อนกลับเราก็ยังได้ “ยอดฟักข้าว” ราคาย่อมเยาถุงละ 10 บาท พร้อมกับการเก็บภาพ “บึงฉวากรีสอร์ท-บ้านบนต้นไม้” ที่เราแอบอาฆาตไว้ว่า คราวหน้าต้องมานอนที่นี่ให้ได้

คืนนี้เราอิ่มอร่อยกับ “ยอดฟักข้าว” ผัดน้ำมันหอย แกล้มคำถามว่าด้วย “นัดหมาย” ณ “จุดนัดพบ”

“มาสุพรรณฯ มาแล้วก็อยากมาอีก แล้วเราจะนัดกันมาอีกนะ…”

ใช่! เรายังมี “นัดหมาย” ณ “จุดนัดพบ” จนกว่าเราจะพบกันอีกครั้งและอีกครั้ง…

ออนอาร์ต
หัวข้อ: Re: นัดพบ “บึงฉวาก”
เริ่มหัวข้อโดย: kaentong ที่ 04 พฤษภาคม 2012, 08:09:00
ขอบคุณครับ ไม่เคยไปจังหวัดสุพรรณบุรี
หัวข้อ: Re: นัดพบ “บึงฉวาก”
เริ่มหัวข้อโดย: E20ZSY- สระบุรี ที่ 07 พฤษภาคม 2012, 09:19:40
ไปเที่ยวบ่ละ
หัวข้อ: Re: นัดพบ “บึงฉวาก”
เริ่มหัวข้อโดย: kaentong ที่ 07 พฤษภาคม 2012, 13:45:04
ถ้ามีโอกาส และหยุดหลายวัน จะอุ้มท่านไปด้วยนะครับ