ชมรมนักวิทยุสมัครเล่นแก่นทอง จังหวัดขอนแก่น ความถี่ 144.750 MHz

คลังแห่งการเรียนรู้และประสบการณ์ชีวิต => จิปาถะนานาประสบการณ์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ตนสัญจร ที่ 06 มิถุนายน 2012, 10:51:16

หัวข้อ: เส้นทางการค้นพบ “ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์”
เริ่มหัวข้อโดย: ตนสัญจร ที่ 06 มิถุนายน 2012, 10:51:16
เส้นทางการค้นพบ “ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์”

(http://upic.me/i/q6/118103.jpg) (http://upic.me/show/36362872)

6 มิถุนายน  2555  วันสำคัญอีกวันหนึ่งที่นักดาราศาสตร์ทั่วโลกรอคอย   

กับการเกิด “ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์” ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่สร้างประวัติศาสตร์การค้นพบวิธีวัดขนาดของระบบสุริยะได้เป็นวิธีแรก

“รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. บอกว่า ปรากฏการณ์นี้ เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่มนุษย์ให้ความสนใจมาช้านานแล้ว ไม่น้อยกว่าปรากฏการณ์จันทรุปราคาหรือสุริยุปราคา

โดยนักดาราศาสตร์ใช้ปรากฏการณ์นี้เพื่อศึกษาระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ แทนที่จะใช้ปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ซึ่งเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย หรือประมาณ 13 ครั้งในรอบ 100 ปี

แต่เนื่องจากดาวพุธอยู่ห่างจากโลกมาก การคำนวณหาระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์จึงไม่สามารถวัดได้อย่างแม่นยำ นักดาราศาสตร์จึงหันมาใช้ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์แทน
 
เพราะดาวศุกร์อยู่ห่างจากโลกเพียง 38 ล้านกิโลเมตร หรือคิดเป็นเพียงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับดาวพุธที่อยู่ห่างถึง 77 ล้านกิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม วงโคจรของดาวศุกร์มีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธเกือบ 2 เท่า ดังนั้นดาวศุกร์จึงมีโอกาสที่จะโคจรมาอยู่ข้างหน้าดวงอาทิตย์พอดีจึงน้อยกว่าดาวพุธ ทำให้ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านดวงอาทิตย์เกิดขึ้นได้เพียงสองครั้งในช่วงเวลากว่า 100 ปี เท่านั้น

…และจากการที่เกิดได้ยากนี่เอง เส้นทางของการค้นพบและการสังเกตของนักดาราศาสตร์ในอดีตจึงผ่านอุปสรรคมากมาย…

เพราะหากพลาดหรือล้มเหลว นั่นหมายถึง ความล่าช้าของการศึกษา วิจัย ซึ่งนักดาราศาสตร์จะต้องเฝ้ารอโอกาสการเกิดปรากฏการณ์นี้ไปอีก กว่า 100 ปีทีเดียว

สำหรับการค้นพบจากหนังสือ “ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ ผ่านหน้าดวงอาทิตย์” ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่เขียนโดย นายกรกมล ศรีบุญเรือง เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์อาวุโส ได้สื่อให้เห็นถึงความพยายามของนักดาราศาสตร์ในอดีต ที่ได้บันทึกข้อมูลการเคลื่อนที่ของวัตถุบนท้องฟ้าไว้อย่างละเอียดอย่างไม่น่าเชื่อ

และข้อมูลเหล่านี้ได้สืบทอดมาสู่นักดาราศาสตร์จากรุ่นสู่รุ่นทำให้วงการดาราศาสตร์พัฒนามาเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง

โดยหลังจาก “กาลิเลโอ กาลิเลอิ” ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเองสังเกตดาวศุกร์ แล้วพบว่าดาวศุกร์มีลักษณะเป็นเสี้ยวคล้ายเสี้ยวของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นการยืนยันถึงทฤษฎีของ “นิโคเลาส์ โคเพอร์นิคุส” ที่เสนอว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ ไม่ใช่โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามความเชื่อแต่โบราณ

ส่วน “คริสทอฟ ชไชเนอร์” ได้รับการบันทึกว่าเป็นผู้ค้นพบจุดบนดวงอาทิตย์เป็นคนแรก โดยใช้วิธีการฉายภาพของดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ไปบนกระดาษขาว

ในช่วงเดียวกัน “โจฮานเนส เคพเลอร์” ได้ค้นพบกฎการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์ ซึ่งนำไปสู่การคำนวณการเกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ 1631 โดยสามารถพยากรณ์ได้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1627 หรือพยากรณ์ล่วงหน้าได้ถึง 4 ปี แต่เคพเลอร์ก็เสียชีวิตก่อนที่จะเกิดปรากฏการณ์จริงเพียง 1 ปีเท่านั้น

ในปี ค.ศ. 1639 “เจเรไมอาห์ ฮอร์ร็อคส์” และ “วิลเลียม แคร็บทรี” กลายเป็น 2 คนแรกในประวัติศาสตร์ ที่ทำการสังเกตปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ผลจากการสังเกตการณ์ทำให้ ฮอร์ร็อคส์ และแคร็บทรี สามารถวัดขนาดปรากฏของดาวศุกร์ได้ใกล้เคียงกับค่าที่ยอมรับในปัจจุบัน แต่หลังจากนั้น 2 ปี ฮอร์ร็อคส์ ก็ได้เสียชีวิตลงด้วยอายุเพียง 22 ปี เท่านั้น

สำหรับ “เอดมันต์ แฮลลีย์” ผู้มีชื่อเสียงเกี่ยวกับดาวหางแฮลลีย์ ในปี ค.ศ. 1678 ได้เสนอการสังเกตปรากฏการณ์จากละติจูดต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งนำไปสู่การวัดระยะทางจากโลกไปยังดวงอาทิตย์ได้อย่างแม่นยำด้วยวิธีการทางเรขาคณิต

แฮลลีย์ ได้กระตุ้นให้นักดาราศาสตร์วางแผนล่วงหน้าสำหรับการสังเกตปรากฏการณ์ ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในปี ค.ศ. 1761 และ ค.ศ. 1769 ซึ่งแฮลลีย์ รู้ตัวดีว่าเขาไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์แม้แต่ครั้งเดียว

สำหรับในประเทศไทย ก็เคยมีบันทึกของหนังสือพิมพ์ลอนดอน ที่ทำให้ทราบว่า มีการศึกษาปรากฏการณ์นี้ในประเทศไทยเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว หรือในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 อีกด้วย

จากเส้นทางการค้นพบดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ที่ต้องใช้เวลาหลายศตวรรษนี้ ได้สะท้อนได้เห็นถึงความสำคัญของดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นที่มาของการพัฒนาวิทยาการเทคโนโลยีต่าง ๆ อีกมากมาย

หากใครยังไม่เคยชมปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ครั้งแรกในรอบศตวรรษซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ 8 มิถุนายน 2547 หรือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว

ปรากฏการณ์ในเช้านี้ ตั้งแต่ประมาณ 6 โมงเช้าจนถึงเกือบเที่ยง ตามเวลาในประเทศไทย จะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตที่จะมีโอกาสได้ดู…

รู้จักดาวศุกร์

ดาวศุกร์ (Venus) หรือดาวที่รู้จักกันดีในชื่อ ดาวประจำเมือง ในยามหัวค่ำ หรือ ดาวประกายพรึกตอนเช้ามืด จัดเป็นดาวเคราะห์หิน ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 2 ในระบบสุริยจักรวาล เนื่องจากดาวศุกร์และโลกมีคล้ายกันทั้งขนาด มวล ความหนาแน่นและปริมาตร ทำให้หลายคนเรียกดาวดวงนี้ว่าดาวฝาแฝดกับโลก แต่ขณะเดียวกันจากการสังเกตการณ์โดยยานอวกาศ พบว่า ดาวศุกร์กับโลกมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยบนดาวศุกร์ไม่มีน้ำและไอน้ำอยู่เลย ชั้นบรรยากาศมีความหนาแน่นมาก และมีความดันบรรยากาศสูงกว่าความดันบรรยากาศบนโลกที่ระดับน้ำทะเลกว่า 90 เท่า นอกจากนี้บรรยากาศยังเต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไอของกรดซัลฟิวริก และมีอุณหภูมิที่พื้นผิวสูงถึง 482 องศาเซลเซียส




หัวข้อ: Re: เส้นทางการค้นพบ “ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์”
เริ่มหัวข้อโดย: ตนสัญจร ที่ 06 มิถุนายน 2012, 10:58:46
อยู่ไกลขนาดไหนก็ยังค้นพบจนได้ เก่งจริงๆ
หัวข้อ: Re: เส้นทางการค้นพบ “ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์”
เริ่มหัวข้อโดย: kaentong ที่ 06 มิถุนายน 2012, 12:29:10
ขอบคุณครับ ที่ให้ย้อนอดีต